แนะนำจังหวัดพิจิตร
คำขวัญจังหวัดพิจิตร
"ถิ่นประสูติพระเจ้าเสือ แข่งเรือยาวประเพณี พระเครื่องดีหลวงพ่อเงิน เพลิดเพลินบึงสีไฟ ศูนย์รวมใจหลวงพ่อเพชร รสเด็ดส้มท่าข่อย ข้าวจ้าวอร่อยลือเรื่อง ตำนานเมืองชาละวัน"
ประวัติความเป็นมา
“พิจิตร” แปลว่า “งาม” เมื่อกล่าวถึงเมืองพิจิตรจึงหมายถึงเมืองงาม เมืองที่มีเสน่ห์ ประทับใจ นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ เป็นที่ประสูติของพระเจ้าเสือ หรือ“พระศรีสรรเพชญ์ที่ 8” พระเจ้าแผนดินแห่งกรุ่งศรีและเป็นเมืองที่ให้กำเนิดนักปราชญ์ราชบัณฑิต คือ พระโหราธิบดี บิดาของศรีปราชญ์
จังหวัดพิจิตรเป็นจังหวัดเก่าแก่มากจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เชื่อกันว่าเจ้ากาญจนกุมาร(พระยาโคตระบอง) โอรสพระยาโคตมเทวราชเป็นผู้สร้างเมือง เหนือฝั่งแม่น้ำน่านในปี พ.ศ.1601 เดิมมีหลายชื่อ คือ เมืองสระหลวง เมืองโอฆะบุรี เมืองชัยบวรและเมืองปากยม ดินแดนอันเป็นเขตจังหวัดพิจิตรอยู่ในที่ราบลุ่มตอนใต้ ของภาคเหนือในดินแดนสุวรรณภูมิบริเวณนี้เป็นบริเวณที่ลำน้ำยมและลำน้ำน่านไหลผ่าน ลักษณะพิเศษ ของดินแดนจังหวัดพิจิตรเดิมเต็มไปด้วยห้วย หนอง คลอง บึง พื้นดินจังหวัดพิจิตร เป็นดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร เพราะเป็นดินตะกอนที่เกิดจาก น้ำท่วมทับถมทุกปีมีปลาชุกชุม
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบจตุสดมภ์และแบ่งหัวเมืองออกเป็นหัวเมือง เอก โท ตรี จัตวา เมืองพิจิตรมีฐานะเป็นเมืองตรี มีความสำคัญทางการทหารและการปกครองมาก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนเรื่อง “ไกรทอง” โดยใช้เมืองพิจิตรเป็นแหล่งกำเนิดของเรื่องราว เนื่องจากเมืองพิจิตร เป็นเมืองที่มีแหล่งน้ำมากมายและมีจระเข้ชุกชุมนั่นเอง
ในปี พ.ศ.2435 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้นำรูปแบบการปกครองระบบเทศาภิบาลมาใช้และได้จัดตั้งมณฑลพิษณุโลก เป็นมณฑลแรกประกอบด้วย 5 เมือง คือ เมืองพิษณุโลก เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย และเมืองพิจิตร
ตราประจำจังหวัด
ภาพสระและต้นโพธิ์
ภาพสระ หมายถึงเมืองสระหลวงซึ่งเป็นชื่อเดิมของจังหวัดตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่าเมืองนี้เป็นเมืองโบราณสมัยขอมและเป็นหัวเมืองเอกตั้งแต่ สมัยกรุงสุโขทัย มีพญาโคตรบองเป็นผู้สร้างเมือง
ต้นโพธิ์ หมายถึง วัดโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จพระราชดำเนินกลับจากสงครามเมืองเชียงใหม่ ได้นำราชธิดาเมืองเชียงใหม่มาด้วย และพระราชทานให้แก่ พระเพทราชา ต่อมานางได้ประสูติบุตรชาย บิดาให้นามว่า "เจ้าเดื่อ" และได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระพุทธเจ้าเสือหรือหลวงสรศักดิ์ ระหว่างครองกรุงศรีอยุธยานั้น พระองค์ได้เสด็จไปคล้องช้างเมืองพิจิตร เลยไปเยี่ยมมาตุภูมิเดิม ที่หมู่บ้านโพธิ์ประทับช้าง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามขึ้นที่ตำบลโพธิ์ประทับช้าง
ธงประจำจังหวัด
ธงประจำจังหวัดพิจิตร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบ่งเป็น 5 แถบ ใช้สีเขียวเข้ม 3 แถบ สลับด้วยสีขาว 2 แถบ
ดอกไม้ประจำจังหวัดพิจิตร
ดอกบัว
ต้นไม้ประจำจังหวัด
ต้นโพธิ์
ผลไม้ประจำจังหวัด
ส้มโอ
สัตว์ประจำจังหวัด
จระเข้
ขนาดและที่ตั้ง
จังหวัดพิจิตรเป็นจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 350 กิโลเมตร มีพื้นที่ 4531.014 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2831883 ไร่ แบ่งการปกครองออกเป็น 12 อำเภอ 86 ตำบล 888 หมู่บ้าน 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด 3 เทศบาลเมือง 22 เทศบาลตำบล 74 องค์การบริหารส่วนตำบล
ติดต่อกับจังหวัดต่างๆ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดพิษณุโลก
ทิศใต้ ติดต่อกับ จังหวัดนครสวรรค์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จังหวัดเพชรบูรณ์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดนครสวรรค์
สภาพพื้นที่
สภาพพื้นที่จังหวัดพิจิตรเอื้ออำนวยต่อการเกษตร พื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำอยู่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 37.95 เมตร ทางด้านตะวันออกมีความลาดเอียงไม่เกินร้อยละ 2 ส่วน ที่ต่อเนื่องกับจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นที่ราบสูง ความลาดเอียงร้อยละ 2-10 มีแน่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำน่าน แม่น้ำยม และแม่น้ำพิจิตร ซึ่งใช้เป็นเส้นทางคมนาคมแต่โบราณ ทำให้เมืองพิจิตรมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาแต่ก่อนยุคสุโขทัย และยังมีหลักฐานปรากฏตราบทุกวันนี้ ในด้านเศรษฐกิจมีบทบาทในฐานะเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดพิจิตรอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมเขตร้อนมีสภาพอากาศเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกทั้งปี
ปริมาณน้ำฝน จังหวัดพิจิตร มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 30 ปี (2511-2540) มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,266.0 มม. เดือนที่ฝนตกมากที่สุดคือ เดือนกันยายน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 271.2 มม. เดือนที่ฝนตกน้อยที่สุดคือ เดือน มกราคม มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 4.9 มม. ส่วนปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 15 ปี (ปี 2526-2540) มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,118.9 มม. เดือนที่ฝนตกมากที่สุดเดือนสิงหาคม มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 236.0 มม. เดือนที่ฝนตกน้อยที่สุดคือเดือนมกราคม มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1.9 มม. ปริมาณน้ำฝนของจังหวัดพิจิตรรวมตลอดทั้งปี 2541 มีปริมาณน้ำฝน 1,080.1 มม. เดือนที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดคือ เดือนกันยายน มีปริมาณน้ำฝน 307.8 มม. เดือนที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุดเดือนธันวาคมจะไม่มีปริมาณน้ำฝนเลย
อุณหภูมิ อุณหภูมิในจังหวัดพิจิตร มีอุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน มีอุณหภูมิ 36.7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำที่สุดในเดือนมกราคม อุณหภูมิต่ำที่สุด ที่ 20.1 องศาเซลเซียส